วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธพจน์ หมวด ๑๖ - ๒๐

  • ๒๗๓. ยอดแห่งมรรคา คืออัษฎางคิกมรรค
    ยอดแห่งสัจจะ คืออริยสัจสี่ประการ
    ยอดแห่งธรรม คือความปราศจากราคะ
    ยอดแห่งมนุษย์ คือพระผู้เห็นแจ้ง


    ๒๗๔. มีทางนี้เท่านั้น ไม่มีทางอื่น
    ที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งทัศนะ
    พวกเธอจงเดินตามทางนี้เถิด
    ทางสายนี้พญามารมักเดินหลงเสมอ





    ๒๗๕. เมื่อเดินตามทางสายนี้
    พวกเธอจักหมดทุกข์
    ทางสายนี้ เราได้ชี้บอกไว้
    หลังจากที่เราได้รู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลส

    ๒๗๖. พวกเธอจงพยายามทำความเพียรเถิด
    พระตถาคต เป็นเพียงผู้ชี้บอกทางเท่านั้น
    ผู้บำเพ็ญฌานเดินตามทางสายนี้
    ก็จะพ้นจากเครื่องผูกของพญามาร
          (  พระพุทธพจน์ )
    ๒๗๗. "สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยงแท้"
    เมื่อใด บุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญาดังนี้
    เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์
    นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

    ๒๗๘. "สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์"
    เมื่อใด บุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญาดังนี้
    เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์
    นี่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

    ๒๗๙. "ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา"
    เมื่อใด บุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญาดังนี้
    เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์
    นี่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์


    ๒๘๐. คนเราเมื่อยังหนุ่มแน่น
    แข็งแรงแต่เกียจคร้าน
    ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน
    มีความคิดตกต่ำ
    คนเกียจคร้านเฉื่อยชาเช่นนี้
    ย่อมไม่พบทางแห่งปัญญา


    ๒๘๑. พึงระวังวาจา พึงสำรวมใจ
    ไม่พึงทำบาปทางกาย
    พึงชำระทางกรรมทั้งสามนี้ให้หมดจด
    เมื่อทำได้เช่นนี้ เขาพึงพบทาง
    ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแสดงไว้

    ๒๘๒. ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ
    เสื่อมไป เพราะไม่ได้ตั้งใจพินิจ
    เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว
    ควรจะทำตนโดยวิถีทางที่ปัญญาจะเจริญ


    ๒๘๓. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงถางป่า (ราคะ)
    แต่อย่าตัดต้นไม้ (จริงๆ) ภัยย่อมเกิดจากป่า (ราคะ)
    พวกเธอทำลายป่า และพุ่มไม้เล็กๆ (ราคะ) ได้แล้ว
    จักเป็นผู้ไม่มีป่า (ราคะ)

    ๒๘๔. ตราบใดบุรุษยังตัดความกำหนัด
    ต่ออิสตรีแม้นิดหน่อยยังไม่ขาด
    ตราบนั้น เขาก็ยังคงมีจิตผูกพันอยู่ในภพ
    เหมือนลุกโคยังไม่หย่านมติดแม่โคแจฉะนั้น

    ๒๘๕. จงถอนความรักของตน
    เหมือนคนถอนดอกบัวที่เกิดในฤดูสารท
    จงเพิ่มพูนแนวทางแห่งสันติ คือ นิพพาน
    ที่พระสุคตเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว

    ๒๘๖.  "เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน
    เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาว และฤดูร้อน"
    คนโง่มักคิดเช่นนี้
    หารู้อันตรายจะมาถึงตัวเองไม่


    ๒๘๗. ผู้ที่มัวเมาอยู่ในบุตรและปศุสัตว์
    มีมนัสติดข้องอยู่ ย่อมถูกมฤตยูฉุดคร่าไป
    เหมือนชาวบ้านที่หลับไหล
    ถูกกระแสน้ำใหญ่พัดพา

    ๒๘๘. บุตรก็ป้องกันไม่ได้
    บิดาหรือญาติก็ป้องกันไม่ได้
    คนเราเมื่อถึงคราวจะตาย
    หมู่ญาติก็ป้องกันไม่ได้

    ๒๘๙. เมื่อรู้ความจริงข้อนี้แล้ว
    คนฉลาดผู้สำรวมในศีล
    ไม่ควรชักช้า
    ในการตระเตรียมทาง
    ไปสู่พระนิพพาน
  • ๒๕๖. ผู้ที่ตัดสินความโดยหุนหันพลันแล่น
    ไม่จัดเป็นผู้เที่ยงธรรม
    ส่วนผู้ที่ฉลาด วินิจฉัยรอบคอบ
    ทั้งฝ่ายถูก และฝ่ายผิด
    (จึงจัดเป็นผู้เที่ยงธรรม)


    ๒๕๗. บัณฑิตผู้ตัดสินผู้อื่นโดยรอบคอบ
    โดยเที่ยงธรรมสม่ำเสมอ
    ถือความถูกต้องเป็นใหญ่
    ผู้นี้ได้สมญาว่า ผู้เที่ยงธรรม

    ๒๕๘. เพียงแต่พูดมาก ไม่จัดว่าเป็นบัณฑิต
    คนที่ประพฤติตนให้เกษม
    ไม่มีเวร ไม่มีภัย
    จึงจะเรียกว่า เป็นบัณฑิต

    ๒๕๙. บุคคลไม่นับว่าผู้ทรงธรรม
    ด้วยเหตุเพียงพูดมาก
    ส่วนผู้ใด ถึงได้สดับตรับฟังน้อย
    แต่เห็นธรรมด้วยใจ
    ไม่ประมาทในธรรม
    ผู้นั้นแล เรียกว่า ผู้ทรงธรรม

    ๒๖๐. เพียงมีผมหงอก
    ยังไม่นับว่า เถระ
    เขาแก่แต่วัยเท่านั้น
    เรียกได้ว่า คนแก่เปล่า

    ๒๖๑. ผู้ใดมี สัจจะ คุณธรรม ไม่เบียดเบียน
    สำรวม ข่มใจ ฉลาด ปราศจากมลทินโทษ
    ผู้นั้นแล เรียกว่า เถระ

    ๒๖๒. ไม่ใช่เพราะพูดคล่อง
    ไม่ใช่เพราะมีผิวพรรณสวย
    ที่ทำให้คนเป็นคนดีได้
    ถ้าหากเขายังมีความริษยา
    มีความตระหนี่ เจ้าเล่ห์
    (เขาก็เป็นคนดีไม่ได้)


    ๒๖๓. ผู้ใดเลิกละความอิจฉาเป็นต้น
    ได้อย่างเด็ดขาดแล้ว
    คนฉลาด ปราศจากมลทินเช่นนี้
    เรียกว่า คนดี

    ๒๖๔. คนศีรษะโล้นไร้ศีลวัตร
    พูดเท็จ ไม่นับเป็นสมณะ
    เขามีแต่ความอยากและความโลภ
    จักเป็นสมณะได้อย่างไร

    ๒๖๕. ผู้ที่ระงับบาปทั้งหลาย
    ทั้งน้อยและใหญ่
    เรียกว่าเป็นสมณะ
    เราะเลิกละบาปได้

    ๒๖๖. เพียงขอภิกษาจากผู้อื่น
    ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ
    ถ้ายังประพฤติตนเหมือนชาวบ้านอยู่
    ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ


    ๒๖๗. ผู้ใดละบุญละบาปทุกชนิด
    ครองชีวิตประเสริฐสุด
    อยู่ในโลกมนุษย์ด้วยปัญญา
    ผู้นี้แลเรียกว่า ภิกษุ



    ๒๖๘-๒๖๙. คนโง่เขลา ไม่รู้อะไร
    นั่งนิ่งดุจคนใบ้ ไม่นับเป็นมุนี
    ส่วนคนมีปัญญาทำตนเหมือนถือคันชั่ง
    เลือกชั่งเอาแต่ความดี ละทิ้งความชั่วช้า
    ด้วยปฏิปทาดังกล่าวเขานับว่าเป็นมุนี
    อนึ่งผู้ที่รู้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
    จึงควรแก่สมญาว่า มุนี

    ๒๗๐. ถ้ายังเบียดเบียนสัตว์อยู่
    บุคคลไม่นับว่า เป็นอารยชน
    เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
    เขาจึงได้ชื่อว่า อารยชน

    ๒๗๑-๒๗๒. ภิกษุเอย เพียงมีศีลาจารวัตร
    เพียงมีภูมิปริยัติคงแก่เรียน
    เพียงพากเพียรปฏิบัติจนได้ฌาน
    เพียงอยู่ในสถานสงบสงัด
    ถ้าขจัดกิเลสไม่ได้หมด เธออย่านิ่งนอนใจ
    ว่า เธอได้รับสุขในบรรพชา
    ที่สามัญชนทั่วไปมิได้สัมผัส
  • ๒๓๕. บัดนี้ เธอแก่ดังใบไม้เหลือง
    ยมทูตกำลังเฝ้ารออยู่
    เธอกำลังจะจากไปไกล
    แต่เสบียงเดินทางของเธอไม่มี


    ๒๓๖. เธอจงสร้างที่พึ่งแก่ตนเอง
    รีบพยายามขวนขวายหาปัญญาใส่ตัว
    เมื่อเธอหมดมลทิน หมดกิเลสแล้ว
    เธอก็จักเข้าถึงทิพยภูมิของพระอริยะ

    ๒๓๗.  บัดนี้ เธอใกล้จะถึงอายุขัยแล้ว
    เธอย่างเข้าใกล้สำนักพญามัจจุราชแล้ว
    ที่พักระหว่างทางของเธอก็ไม่มี
    เสบียงเดินทาง เธอก็ไม่ได้หาไว้

    ๒๓๘. จงสร้างที่พึ่งแก่ตัวเอง
    รีบขวนขวายหาปัญญาใส่ตัว
    เมื่อเธอหมดมลทิน หมดกิเลสแล้ว
    เธอก็จักไม่มาเกิดมาแก่อีกต่อไป


    ๒๓๙. คนมีปัญญา
    ควรขจัดมลทินของตน
    ทีละน้อยๆ
    ทุกๆ ขณะ
    โดยลำดับ
    เหมือนนายช่างทอง
    ปัดเป่าสนิมแร่


    ๒๔๐. สนิมเกิดแต่เหล็ก
    กัดกินเหล็กฉันใด
    กรรมที่ตนทำไว้
    ย่อมนำเขาไปทุคติฉันนั้น


    ๒๔๑. ความเสื่อมของมนตรา อยู่ที่การไม่ทบทวน
    ความเสื่อมของเรือน อยู่ที่ไม่ซ่อมแซม
    ความเสื่อมของความงาม อยู่ที่เกียจคร้านตบแต่ง
    ความเสื่อมของนายยาม อยู่ที่ความเผลอ


    ๒๔๒. ความประพฤติเสียหาย เป็นมลทินของสตรี
    ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้
    ความชั่วทุกชนิด เป็นมลทิน
    ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า


    ๒๔๓. มลทินที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือความโง่เขลา
    ความโง่เขลา นับเป็นมลทินชั้นยอด
    ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงละมลทินชนิดนี้
    เป็นผู้ปราศจากมลทินเถิด


    ๒๔๔. คนไร้ยางอาย กล้าเหมือนกา
    ชอบทำลายผู้อื่นลับหลัง ชอบเอาหน้า
    อวดดี มีพฤติกรรมสกปรก
    คนเช่นนี้ เป็นอยู่ง่าย


    ๒๔๕. ส่วนคนที่มีหิริ ใฝ่ความบริสุทธิ์เป็นนิตย์
    ไม่เกียจคร้าน อ่อนน้อมถ่อมตน
    มีความเป็นอยู่บริสุทธิ์ มีปัญญา
    คนเช่นนี้เป็นอยู่ลำบาก


    ๒๔๖-๒๔๗. ผู้ใด ฆ่าสัตว์ พูดเท็จ ลักทรัพย์
    ประพฤติล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
    ดื่มสุราเมรัยเป็นนิจศีล
    ผู้นั้นนับว่าขุดรากถอนโคนตนเองในโลกนี้ทีเดียว

    ๒๔๘. จงรู้เถิด บุรุษผู้เจริญเอ๋ย ความชั่วร้าย
    มิใช่สิ่งที่จะพึงควบคุมได้ง่ายๆ
    ขอความโลภและความชั่วช้า
    อย่าได้ฉุดกระชากเธอ
    ไปหาความทุกข์ตลอดกาลนานเลย


    ๒๔๙. ประชาชนย่อมให้ทานตามศรัทธา
    ใครคิดอิจฉาในข้าวและน้ำของคนอื่น
    เขาย่อมไม่ได้รับความสงบใจ
    ไม่ว่ากลางวัน หรือ กลางคืน

    ๒๕๐. ผู้ใดเลิกคิดเช่นนั้นแล้ว
    ผู้นั้น ย่อมได้รับความสงบใจ
    ทั้งในกลางวันและกลางคืน


    ๒๕๑. ไม่มี ไฟใด เสมอราคะ
    ไม่มี เคราะห์ใด เสมอโทสะ
    ไม่มี ข่ายดักสัตว์ใด เสมอโมหะ
    ไม่มี แม่น้ำใด เสมอตัณหา


    ๒๕๒. โทษคนอื่นเห็นได้ง่าย
    โทษตนเห็นได้ยาก
    คนเรามักเปิดเผยโทษคนอื่น
    เหมือนโปรยแกลบ
    แต่ปิดบังโทษของตน
    เหมือนนักเลงเต๋าโกงซ่อนลูกเต๋า


    ๒๕๓. ผู้ที่เพ่งแต่โทษคนอื่น
    คอยจับผิดอยู่ตลอดเวลา
    เขาย่อมหนาด้วยกิเลสอาสวะ
    ไม่มีทางเลิกละมันได้


    ๒๕๔. ไม่มีรอยเท้าในอากาศ
    ไม่มีสมณะภายนอกศาสนานี้
    สัตว์พากันยินดีในกิเลสที่กีดขวางนิพพาน
    พระตถาคตทั้งหลาย หมดกิเลสชนิดนั้นแล้ว

    ๒๕๕. ไม่มี รอยเท้าในอากาศ
    ไม่มี สมณะนอกศาสนานี้
    ไม่มี สังขารที่เที่ยงแท้
    ไม่มี ความหวั่นไหวสำหรับพระพุทธเจ้า
  • ๒๒๑. ควรละความโกรธ และมานะ 
    เอาชนะกิเลสเครื่องผูกมัดทุกชนิด 
    ผู้ที่ไม่ติดอยู่ในรูปนาม หมดกิเลสแล้ว 

    ย่อมคลาดแคล้วจากความทุกข์



    ๒๒๒. ผู้ใดยับยั้งความโกรธที่เกิดขึ้นได้ทันที 
    เหมือนสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นไว้ได้ 
    ผู้นั้นไซร้เราเรียกว่า "สารถี" 
    ส่วนคนนอกนี้ได้ชื่อเพียง "ผู้ถือเชือก"



    ๒๒๓. พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ 
    พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี 
    พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ 
    พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์



    ๒๒๔. ควรพูดคำสัตย์จริง ไม่ควรโกรธ 
    แม้เขาขอเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรให้ 
    ด้วยการปฏิบัติทั้งสามนี้ 
    เขาก็อาจไปสวรรค์ได้
      


    ๒๒๕. พระมุนี ผู้ไม่เบียดเบียนใคร 
    ควบคุมกายอยู่เป็นนิจศีล 
    ย่อมไปยังถิ่นที่นิรันดร 
    ที่สัญจรไปแล้ว ไม่เศร้าโศก
      


    ๒๒๖.สำหรับท่านผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา 
    สำเหนียกศึกษาทุกทิพาราตรี 
    มีใจน้อมไปสู่พระนิพพาน 
    อาสวะย่อมอันตรธานหมดสิ้น


      
    ๒๒๗. อตุลเอย เรื่องอย่างนี้มีมานานแล้ว 
    มิใช่เพิ่งจะมีในปัจจุบันนี้ 
    อยู่เฉยๆ เขาก็นินทา 
    พูดมาก เขาก็นินทา 
    พูดน้อย เขาก็นินทา 
    ไม่มีใครในโลก ที่ไม่ถูกนินทา



    ๒๒๘. ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต 
    คนที่ถูกสรรเสริญ โดยส่วนเดียว 
    หรือถูกนินทา โดยส่วนเดียว ไม่มี



    ๒๒๙-๒๓๐. นักปราชญ์พิจารณารอบคอบแล้ว 
    จึงสรรเสริญผู้ใด ผู้ดำเนินชีวิตหาที่ติมิได้ 
    ฉลาด สมบูรณ์ด้วยปัญญาและศีล 
    ผู้นั้น เปรียบเสมือนแท่งทองบริสุทธิ์ 
    ใครเล่าจะตำหนิเขาได้ คนเช่นนี้ 
    แม้เทวดาก็ชม ถึงพรหม ก็สรรเสริญ



    ๒๓๑. พึงควบคุม ความคะนองทางกาย 
    พึงสำรวม การกระทำทางกาย 
    พึงละกายทุจริต 
    ประพฤติกายสุจริต



    ๒๓๒. พึงควบคุม ความคะนองทางวาจา 
    พึงสำรวม คำพูด 
    พึงละวจีทุจริต 
    ประพฤติวจีสุจริต



    ๒๓๓. พึงควบคุม ความคะนองทางใจ 
    พึงสำรวม ความคิด 
    พึงละมโนทุจริต 
    ประพฤติมโนสุจริต



    ๒๓๔. ผู้มีปัญญา ย่อมสำรวมกาย วาจา ใจ 
    ท่านเหล่านั้น นับว่า ผู้สำรวมดีแท้จริง
  • ๒๐๙. พยายามในสิ่งที่ไม่ควรพยายาม 
    ไม่พยายามในสิ่งที่ควรพยายาม 
    ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์ ติดอยู่ในปิยารมณ์ 

    คนเช่นนี้ก็ได้แต่ริษยาผู้ที่พยายามช่วยตัวเอง



    ๒๑๐. อย่าติดอยู่ในสิ่งที่เรารัก หรือไม่รัก 
    การพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เป็นทุกข์ 
    การพบเห็นแต่สิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์



    ๒๑๑. เพราะฉะนั้น ไม่ควรรักสิ่งใด 
    เพราะพลัดพรากจากของรัก เป็นทุกข์ 
    ผู้ที่หมดความรักและความไม่รักแล้ว 
    เครื่องผูกพัน ก็พลอยหมดไปด้วย



    ๒๑๒. ที่ใดมีของรัก ที่นั่นมีโศก 
    ที่ใดมีของรัก ที่นั่นมีภัย 
    เมื่อไม่มีของรักเสียแล้ว 
    โศกภัย ก็ไม่มี





    ๒๑๓. ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีโศก 
    ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีภัย 
    เมื่อไม่มีความรักเสียแล้ว 
    โศก ภัย ก็ไม่มี



    ๒๑๔. ที่ใดมีความยินดี ที่นั่นมีโศก 
    ที่ใดมีความยินดี ที่นั่นมีภัย 
    เมื่อไม่มีความยินดีเสียแล้ว 
    โศก ภัย ก็ไม่มี



    ๒๑๕. ที่ใดมีความใคร่ ที่นั่นมีโศก
     ที่ใดมีความใคร่ ที่นั่นมีภัย 
    เมื่อไม่มีความใคร่เสียแล้ว 
    โศก ภัย ก็ไม่มี



    ๒๑๖. ที่ใดมีความทะยานอยาก ที่นั่นมีโศก 
    ที่ใดมีความทะยานอยาก ที่นั่นมีภัย 
    เมื่อไม่มีความทะยานอยากเสียแล้ว 
    โศก ภัย ก็ไม่มี



    ๒๑๗. ผู้ประพฤติดี มีความเห็นถูกต้อง 
    มั่นอยู่ในคลองธรรม พูดคำสัตย์ 
    ปฏิบัติหน้าที่ของคนสมบูรณ์ 
    คนย่อมเทิดทูนด้วยความรัก

      

    ๒๑๘. พระอนาคามีผู้ใฝ่พระนิพพาน 
    สัมผัสผ่านผลสามด้วยใจ 
    หมดปฏิพัทธ์รักใคร่ในกาม 
    จึงได้สมญานามว่า "ผู้ทวนกระแส"



    ๒๑๙. บุรุษผู้จากไปนาน 
    เมื่อกลับมาจากไพรัชสถานโดยสวัสดี 
    ญาติ และมิตรสหายย่อมยินดีต้อนรับ



    ๒๒๐. บุญที่ได้ทำไว้ในโลกนี้ 
    ย่อมต้อนรับผู้ที่จากไป 
    เหมือนญาติที่รักมาจากที่ไกล 
    ฝูงชนย่อมเต็มใจต้อนรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น