วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธพจน์ หมวด ๑ - ๕

  • ๖๐.ราตรีนาน สำหรับคนนอนไม่หลับ
    ระยะทางโยชน์หนึ่งไกล สำหรับผู้ล้าแล้ว
    สังสารวัฎยาวนาน สำหรับคนพาล
    ผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม


    ๖๑. หากแสวงหาไม่พบเพื่อนที่ดีกว่าตน
    หรือเพื่อนที่เสมอกับตน
    ก็พึงเที่ยวไปคนเดียว
    เพราะมิตรภาพ ไม่มีในหมู่คนพาล





    ๖๒. คนโง่มัวคิดวุ่นวายว่า
    เรามีบุตร เรามีทรัพย์
    เมื่อตัวเขาเองก็ไม่ใช่ของเขา
    บุตรและทรัพย์จะเป็นของเขาได้อย่างไร

    ๖๓. คนโง่ รุ้ตัวว่าโง่
    ยังมีทางเป็นบัณฑิตได้บ้าง
    แต่โง่แล้ว อวดฉลาด
    นั่นแหละเรียกว่าคนโง่แท้

    ๖๔. ถึงจะอยุ่ใกล้บัณฑิต
    เป็นเวลานานชั่วชีวิต
    คนโง่ก็หารู้พระธรรมไม่
    เหมือนจวักไม่รู้รสแกง

    ๖๕. ปัญญาชน คบบัณฑิต
    แม้เพียงครู่เดียว
    ก็พลันรู้แจ้งพระธรรม
    เหมือนลิ้นรู้รสแกง
    ๖๖.เหล่าคนพาล ปัญญาทราม
    ทำตัวเองให้เป็นศัตรูของตัวเอง
    เที่ยวก่อแต่บาปกรรรมที่มีผลเผ็ดร้อน

    ๖๗. กรรมใดทำแล้วทำให้เดือดร้อนภายหลัง
    อีกทั้งทำให้ร้องไห้น้ำตานอง
    รับสนองผลของการกระทำ
    กรรมนั้นไม่ดี

    ๖๘. กรรมใดทำแล้ว ไม่เดือดร้อนภายหลัง
    ทั้งผู้กระทำก้เบิกบานสำราญใจ
    ได้เสวยผลของการกระทำ
    กรรมนั้นดี

    ๖๙. ตลอดระยะเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
    คนพาลสำคัญบาปหวานปานน้ำผึ้ง
    เมื่อใดบาปให้ผล
    เมื่อนั้นเขาย่อมได้รับทุกข์


    ๗๐. คนพาล ถึงจะบำเพ็ญตบะ
    โดยเอาปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกิน ทุกเดืน
    การปฏิบัติของเขาไม่เท่าหนึ่งในสิบหกส่วน
    ของการปฏิบัติของท่านผู้บรรลุธรรม


    ๗๑.กรรมชั่วที่ทำแล้ว ยังไม่ให้ผลทันทีทันใด
    เหมือนนมรีดใหม่ๆ ไม่กลายเป็นนมเปรี้ยวในทันที
    แต่มันจะค่อยๆ เผาผลาญผู้กระทำในภายหลัง
    หมือนไฟไหม้แกลบ

    ๗๒. คนพาลได้ความรู้มา
    เพื่อการทำลายถ่ายเดียว
    ความรู้นั้น ทำลายคุณความดีเขาสิ้น
    ทำให้มันสมองของเขาตกต่ำไป


    ๗๓. ภิกษุพาล ปรารถนาชื่อเสียงเกียรติยศที่ไม่เหมาะ
    อยากเป็นใหญ่กว่าพระภิกษุทั้งหมด
    อยากเป็นเจ้าอาวาส
    อยากได้รับบูชาสักการะจากชาวบ้านทั้งหลาย

    ๗๔. "ขอให้คฤหัสถ์ และบรรพชิต
    จงสำคัญว่า เราเท่านั้นทำกิจนี้
    ขอให้เขาเหล่านั้นอยู่ในบังคับบัญชาของเรา
    ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล้ก"
    ภิกษุพาล มักจะคิดใฝ่ฝันเช่นนี้
    ความทะเยอทะยาน และวามหยิ่งก้พลอยเพิ่มขึ้น

    ๗๕. ทางหนึ่งแสวงหาลาภ
    ทางหนึ่งไปนิพพาน
    รู้อย่างนี้แล้ว ภิกษุพุทธสาวก
    ไม่ควรไยดีลาภสักการะ
    ควรอยู่อย่างสงบ
  • ๔๔.ใครจักครองแผ่นดินนี้
    พร้อมทั้งยมโลก และเทวโลก
    ใครจักเลือกเฟ้นพระธรรมบท
    ที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
    เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาด

    เลือกเก็บดอกไม้

    ๔๕. พระเสขะจักครองแผ่นดินนี้
    พร้อมทั้งยมโลกและเทวโลก
    พระเสขะจักเลือกเฟ้นพระธรรมบท
    ที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
    เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาด
    เลือกเก็บดอกไม้

    ๔๖. เมื่อรู้ว่าร่างกายนี้แตกสลายง่าย และว่างเปล่า
    เช่นเดียวกับฟองน้ำ และพยับแดด
    ก็ควรทำลายบุษปศรของกามเทพ
    ไปให้พ้นทัศนวิสัยของมัจจุราชเสีย

    ๔๗. มฤตยูฉุดคร่าคนผู้มัวเก็บดอกไม้ (กามคุณ)
    มีใจเกี่ยวข้องอยู่ในกามคุณไป
    เหมือนห้วงน้ำใหญ่หลากมา
    พัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับไหลไป

    ๔๘. ผู้ที่มัวเก็บดอกไม้ (กามคุณ) เพลินอยู่
    มีจิตใจข้องอยู่แต่ในกามคุณไม่รู้จักอิ่ม
    มักตกอยู่ในอำนาจมฤตยู

    ๔๙. มุนีพึงจาริกไปในเขตคาม
    ไม่ทำลายศรัทธาและโภคะของชาวบ้าน
    ดุจภมรดูดรสหวานของบุปผชาติแล้วจากไป
    ไม่ให้สีและกลิ่นชอกช้ำ

    ๕๐.ไม่ควรแส่หาความผิดผู้อื่น
    หรือธุระที่เขาทำแล้วหรือยังไม่ทำ
    ควรตรวจดูเฉพาะกิจ
    ที่ตนทำหรือยังไม่ทำเท่านั้น

    ๕๑. วาจาสุภาสิต
    ของผู้ทำไม่ได้ตามพูด
    ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร
    ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น

    ๕๒. วาจาสุภาษิต
    ของผู้ทำได้ตามพูด
    ย่อมอำนวยผลดี
    ดุจดอกไม้สีสวยและมีกลิ่นหอม

    ๕๓. เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องตาย
    ก็ควรสร้างบุญกุศลไว้ให้มาก
    เหมือนนายมาลาการร้อยพวงมาลัย
    เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้

    ๕๔. กลิ่นปุปผชาติ ก็หอมทวนลมไม่ได้
    กลิ่นจันทน์ กฤษณา หรือดอกมะลิ
    ก็หอมทวนลมไม่ได้
    แต่กลิ่นสัตบุรุษ หอมทวนลมไม่ได้
    สัตบุรุษ ย่อมหอมฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ

    ๕๕. กลิ่นศีล หอมยิ่งกว่า
    ของหอมเหล่านี้ คือ
    จันทน์ กฤษณา
    ดอกอุบล และ กะลำพัก

    ๕๖. กฤษณา หรือจันทน์ มีกลิ่นหอมน้อยนัก
    แต่กลิ่นหอมของท่านผู้ทรงศีลประเสริฐนัก
    หอมฟุ้งกระทั่งถึงทวยเทพยดา

    ๕๗. มารย่อมค้นไม่พบวิถีทาง
    ของผู้ทรงศีลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท
    ผู้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส เพราะรู้ชอบ

    ๕๘. ดอกบัว มีกลิ่นหอม รื่นรมย์ใจ
    เกิดบนสิ่งปฏิกูล
    ที่เขาทิ้งไว้ใกล้ทางใหญ่ ฉันใด

    ๕๙. ท่ามกลางหมู่ปุถุชน ผู้โง่เขลา
    ผู้เป็นเสมือนสิ่งปฏิกูล
    พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ย่อมรุ่งเรืองด้วยปัญญา ฉันนั้น
  • ๓๓. จิตดิ้นรน กลับกลอก
    ป้องกันยาก ห้ามยาก
    คนมีปัญญาสามารถดัดให้ตรงได้
    เหมือนช่างศรดัดลูกศร


    ๓๔. มัสยาถูกเขาจับโยนไปบนบก ย่อมดิ้นรน
    เพื่อจะกลับไปยังแหล่งน้ำที่เคยอาศัย
    จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ดิ้นรนไปหากามคุณ
    เพราะฉะนั้น จึงควรละเว้นกามคุณเสีย

    ๓๕.จิตควบคุมยาก เปลี่ยนแปลงเร็ว
    ใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
    ฝึกจิตเช่นนั้นได้เป็นการดี
    เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้

    ๓๖.จิตเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก
    มักใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
    ผู้มีปัญญาจึงควรควบคุมจิตไว้ให้ดี
    เพราะจิตที่ควบคุมได้แล้ว นำสุขมาให้

    ๓๗.จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว
    ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้
    ใครควบคุมจิตนี้ได้
    ย่อมพ้นจากบ่วงมาร


    ๓๘.ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์
    แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง
    ไม่รู้พระสัทธรรม
    มีความเลื่อมใสไม่จริงจัง

    ๓๙.ผู้มีสติตื่นตัวอยู่เนืองนิตย์
    มีจิตเป็นอิสระจากราคะและโทสะ
    ละบุญและบาปได้
    ย่อมไม่กลัวอะไร

    ๔๐.เมื่อรู้ว่าร่างกายนี้แตกดับง่ายเหมือนหม้อน้ำ
    พึงป้องกันจิตให้มั่นเหมือนป้องกันเมืองหลวง
    แล้วพึงรบกับพญามารด้วยอาวุธคือปัญญา
    เมื่อรบชนะแล้วพึงรักษาชัยชนะนั้นไว้
    ระวังอย่าตกอยู่ในอำนาจมารอีก

    ๔๑.อีกไม่นาน ร่างกายนี้
    จักปราศจากวิญญาณ
    ถูกทอดทิ้ง ทับถมแผ่นดิน
    เหมือนท่อนไม้อันหาประโยชน์มิได้

    ๔๒.จิตที่ฝึกฝนผิดทาง
    ย่อมทำความเสียหายได้
    ยิ่งกว่าศัตรูทำต่อศัตรู
    หรือคนจองเวรทำต่อคนจองเวร

    ๔๓. มารดาก็ทำให้ไม่ได้ บิดาก็ทำให้ไม่ได้
    ญาติพี่น้องก็ทำให้ไม่ได้
    แต่จิตที่ฝึกฝนไว้ชอบย่อมทำสิ่งนั้นให้ได้
    และทำให้ได้อย่างประเสริฐด้วย
  • ๒๑. ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ
    ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
    ผู้ไม่ประมาท ไม่มีวันตาย
    ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว



    ๒๒.  บัณฑิตรู้ข้อแตกต่าง
    ระหว่างความประมาทกับความไม่ประมาท
    จึงยินดีในความไม่ประมาท
    อันเป็นแนวทางของพระอริยะ

    ๒๓. ท่านผู้ฉลาดเหล่านั้น หมั่นเจริญกรรมฐาน
    มีความเพียรมั่นอยู่เป็นนิจศีล
    บรรลุพระนิพพานอันเป็นสภาวะที่สูงส่ง
    อิสระจากกิเลสเครื่องผูกมัด

    ๒๔. ยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน
    มีสติ มีการงานสะอาด
    ทำงานด้วยความรอบคอบระมัดระวัง
    เป็นอยู่โดยชอบธรรม ไม่ประมาท

    ๒๕. ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท
    ด้วยความสำรวมระวัง และด้วยการข่มใจตนเอง
    ผู้มีปัญญาควรสร้างเกาะ (ที่พึ่ง) แก่ตนเอง
    ที่ห้วงน้ำ (กิเลส) ไม่สามารถท่วมได้


    ๒๖.คนพาล ทรามปัญญา
    มักมัวประมาทเสีย
    ส่วนคนฉลาด ย่อมรักษาความไม่ประมาท
    เหมือนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ

    ๒๗.พวกเธออย่ามัวประมาท
    อย่ามัวเอาแต่สนุกยินดีในกามคุณอยู่เลย
    ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจตามความเป็นจริงเท่านั้น
    จึงจะบรรลุถึงความสุขอันไพบูลย์ได้


    ๒๘.เมื่อใดบัณฑิตกำจัดความประมาทด้วยความไม่ประมาท
    เมื่อนั้นเขานับว่าได้ขึ้นสู่ "ปราสาทคือปัญญา"
    ไร้ความเศร้าโศก สามารถมองเห็นประชาชน ผู้โง่เขลา
    ผู้ยังต้องเศร้าโศกอยู่ เหมือนคนยืนบนยอดภูเขา
    มองลงมาเห็นฝูงชนที่ยืนอยู่บนพื้นดิน ฉะนั้น

    ๒๙.ผู้มีปัญญามักไม่ประมาท เมื่อคนอื่นพากันประมาท
    และตื่น เมื่อคนอื่นหลับอยู่
    เขาจึงละทิ้งคนเหล่านั้นไปไกล
    เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว วิ่งเลยม้าแกลบ ฉะนั้น

    ๓๐.ท้าวมฆวานได้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ
    เพราะผลของความไม่ประมาท
    บัณฑิตจึงสรรเสริญความไม่ประมาท
    และติเตียนความประมาททุกเมื่อ

    ๓๑.ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท
    เห็นภัยในความประมาท
    ย่อมเผากิเลสเครื่องผูกมัดได้
    เหมือนไฟเผาเชื้อทุกชนิด

    ๓๒. ภิกษุผู้ไม่ประมาท
    เห็นภัยในความประมาท
    ไม่มีทางเสื่อม
    ย่อมอยู่ใกล้นิพพานเป็นแน่แท้
  • ๑. ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
    ใจเป็นใหญ่ (กว่าสรรพสิ่ง)
    สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ
    ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจชั่ว
    ความทุกข์ย่อมติดตามตัวเขา

    เหมือนล้อหมุนเต้าตามเท้าโค


    ๒.ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
    ใจเป็นใหญ่ (กว่าสรรพสิ่ง)
    ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจบริสุทธิ์
    ความสุขย่อมติดตามเขา
    เหมือนเงาติดตามตน

    ๓.ใครมัวคิดอาฆาตว่า
    "มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
    มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา"
    เวรของเขาไม่มีทางระงับ

    ๔.ใครไม่คิดอาฆาตว่า
    "มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
    มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา"
    เวรของเขาย่อมระงับ

    ๕. แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้
    เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
    มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร
    นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว


    ๖. คนทั่วไปมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังพินาศ
    เพราะวิวาททุ่มเถียงกัน
    ส่วนผู้รู้ความจริงเช่นนั้น
    ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป


    ๗. มารย่อมสามารถทำลายบุคคล
    ผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
    ไม่ควบคุมการแสดงออก
    ไม่รู้ประมาณในโภชนาหาร
    เกียจคร้านและอ่อนแอ
    เหมือนลมแรงพัดโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง

    ๘. มารย่อมไม่สามารถทำลายบุคคล
    ผู้ไม่ตกเป็นทาสของความสวยงาม
    รู้จักควบคุมการแสดงออก
    รู้ประมาณในโภชนาหาร
    มีศรัทธา และมีความขยันหมั่นเพียร
    เหมือนลมไม่สามารถพัดโค่นภูเขา

    ๙. คนที่กิเลสครอบงำใจ
    ไร้การบังคับตนเองและไร้สัตย์
    ถึงจะครองผ้ากาสาวพัสตร์
    ก็หาคู่ควรไม่

    ๑๐.ผู้หมดกิเลสแล้ว มั่นคงในศีล
    รู้จักบังคับตนเอง และมีสัตย์
    ควรครองผ้ากาสาวพัสตร์แท้จริง


    ๑๑.ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
    เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
    ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว
    ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ


     ๑๒.ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
    และสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
    มีความคิดเห็นชอบ
    ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ

    ๑๓.เรือนที่มุงไม่เรียบร้อย
    ฝนย่อมไหลย้อยเข้าได้
    ใจที่ไม่อบรมฝึกหัด
    ราคะกำหนัดย่อมครอบงำ


    ๑๔.เรือนที่มุงเรียบร้อย
    ฝนย่อมไหลย้อยเข้าไม่ได้
    ใจที่อบรมเป็นอย่างดี
    ราคะไม่มีวันเข้าครอบงำ

    ๑๕. คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
    คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า
    คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
    คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกเดือดร้อนยิ่งนัก
    เมื่อมองเห็นแต่กรรมชั่วของตน


    ๑๖.คนทำดีย่อมร่าเริงในโลกนี้
    คนทำดีย่อมร่าเริงในโลกหน้า
    คนทำดีย่อมร่าเริงในโลกทั้งสอง
    คนทำดีย่อมร่าเริง เบิกบานใจยิ่งนัก
    เมื่อมองเห็นแต่กรรมบริสุทธิ์ของตน


    ๑๗.คนทำชั่วย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
    คนทำชั่วย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า
    คนทำชั่ว ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
    เมื่อคิดได้ว่า ตนทำแต่กรรมชั่ว
    ตายไปเกิดในทุคติ ยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น


    ๑๘.คนทำดีย่อมสุขใจในโลกนี้
    คนทำดีย่อมสุขใจในโลกหน้า
    คนทำดีย่อมสุขใจในโลกทั้งสอง
    เมื่อคิดว่าตนได้ทำแต่บุญกุศล ย่อมสุขใจ
    ตายไปเกิดในสุคติ ยิ่งสุขใจยิ่งขึ้น


    ๑๙.คนที่ท่องจำตำราได้มาก
    แต่มัวประมาทเสีย ไม่ทำตามคำสอน
    ย่อมไม่ได้รับผลที่พึงได้จากการบวช
    เหมือนเด็กเลี้ยงโค นับโคให้คนอื่นเขา

    ๑๙.ถึงจะท่องจำตำราได้น้อย
    แต่ประพฤติชอบธรรม
    ละราคะ โทสะ และโมหะได้
    รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
    ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ทั้งปัจจุบันและอนาคต
    เขาย่อมได้รับผลที่พึงได้จากการบวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น