วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธพจน์ หมวด ๖ - ๑๐

  • ๑๒๙. สัตว์ทั้งหมดกลัวโทษทัณฑ์
    สัตว์ทั้งหมดกลัวความตาย
    เปรียบตนเองกับผู้อื่นอย่างนี้แล้ว
    ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรสั่งให้คนอื่นฆ่า



    ๑๓๐. สัตว์ทั้งหมดกลัวโทษทัณฑ์
    สัตว์ทั้งหมดรักชีวิตของตน
    เปรียบตนเองกับคนอื่นอย่างนี้แล้ว
    ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรสั่งให้คนอื่นฆ่า





    ๑๓๑. สัตว์ทั้งหลายล้วนต้องการความสุข
    ผู้ที่ต้องการความสุขแก่ตน
    แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น
    ตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุข


    ๑๓๒. สัตว์ทั้งหลายล้วนต้องการความสุข
    ผู้ที่ต้องความสุขแก่ตน
    ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น
    ตายไปแล้วย่อมได้รับความสุข

    ๑๓๓. อย่ากล่าวคำหยาบแก่ใครๆ
    เมื่อถูกท่านด่าว่า เขาจะโต้ตอบท่าน
    การพูดจาก้าวร้าวกันเป็นเหตุก่อทุกข์
    อาจลุกลามถึงขั้นลงมือประทุษร้ายกัน

    ๑๓๔. ถ้าเธอทำตนให้เงียบเสียงได้
    เหมือนฆ้องแตก
    ก็นับว่าเธอเข้าถึงนิพพานแล้ว
    เธอก็จะไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใครอีก

    ๑๓๕.ความแก่และความตาย
    ไล่ต้อนอายุสัตว์ทั้งหลายไป
    เหมือนเด็กเลี้ยงโค ถือท่อนไม้
    คอยไล่ต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน


    ๑๓๖.คนพาล เวลาทำชั่ว
    หาสำนึกถึงผลของมันไม่
    คนทรามปัญญามักเดือดร้อน
    เพราะกรรมชั่วของตัว
    เหมือนถูกไฟไหม้

    ๑๓๗.ผู้ทำร้ายลงทัณฑ์แก่บุคคล
    ผู้ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายใคร
    ย่อมได้รับผลสนองสิบอย่าง
    อย่างใดอย่างหนึ่งทันตาเห็น


    ๑๓๘. ได้รับเวทนาอย่างรุนแรง
    ได้รับความเสื่อมเสีย
    ถูกทำร้ายร่างกาย
    เจ็บป่วยอย่างหนัก
    กลายเป็นคนวิกลจริต


    ๑๓๙. ต้องราชภัย
    ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง
    ไร้ญาติพี่น้อง
    ทรัพย์สมบัติก็พินาศฉิบหาย

    ๑๔๐. หรือไม่บ้านเรือนของเขาย่อมถูกไฟไหม้
    ตายไป เขาผู้ทรามก็ตกนรก

    ๑๔๑. ไม่ใช่ประพฤติตนเป็นชีเปลือย ไม่ใช่มุ่นชฎา
    ไม่ใช่เอาโคลนทาร่างกาย ไม่ใช่การอดอาหาร
    ไม่ใช่นอนบนดิน ไม่ใช่คลุกฝุ่นธุลี ไม่ใช่นั่งกระโหย่ง
    ที่ทำให้คนผู้ยังไม่ข้ามพ้นความสงสัย บริสุทธิ์


    ๑๔๒. ถึงจะแต่งกายแบบใดๆ ก็ตาม
    ถ้าใจสงบระงับ ควบคุมตัวได้
    มั่นคง บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนคนอื่น
    เรียกว่า พราหมณ์ สมณะ หรือ ภิกษุ


    ๑๔๓. ผู้หักห้ามใจไม่ทำชั่วเพราะละอายบาป
    หาได้น้อยนักในโลกนี้
    คนเช่นนี้ย่อมปลุกตัวเองจากหลับอยู่เสมอ
    เหมือนม้าดี ระวังตัวเองให้พ้นแส้

    ๑๔๔. ธรรมดาม้าดี เมื่อถูกลงแส้ครั้งหนึ่ง ย่อมสำนึก
    (ความผิดครั้งแรก) และพยายาม (วิ่งให้เร็ว)
    พวกเธอก็จงทำตนเช่นนั้น อาศัยศรัทธา, ศีล,
    ความเพียร ,มีสมาธิ, การวินิจฉัยธรรม, ความสมบูรณ์ด้วย
    ความรู้และความประพฤติ, และอาศัยสติ
    พวกเธอจักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย

    ๑๔๕. ชาวนา ไขน้ำเข้านา
    ช่างศร ดัดลูกศร
    ช่างไม้ ถากไม้
    คนดี ฝึกตนเอง
  • ๑๑๖. พึงรีบเร่งกระทำความดี
    และป้องกันจิตจากความชั่ว
    เพราะเมื่อกระทำความดีช้าไป
    ใจจะกลับยินดีในความชั่ว


    ๑๑๗. ถ้าหากจำต้องทำชั่วไซร้
    ก็ไม่ควรทำบ่อยนัก
    และไม่ควรพอใจในการทำชั่วนั้น
    เพราะการสะสมบาป นำทุกข์มาให้

    ๑๑๘. ถ้าหากจะทำความดี
    ก็ควรทำดีบ่อยๆ
    ควรพอใจในการทำความดีนั้น
    เพราะการสะสมความดีนำสุขมาให้

    ๑๑๙.  เมื่อบาปยังไม่ส่งผล
    คนชั่วก็เห็นว่าเป็นของดี
    ต่อเมื่อมันเผล็ดผลเมื่อใด
    เมื่อนั้นแหละเขาจึงรู้พิษสงของบาป

    ๑๒๐. เมื่อความดียังไม่ส่งผล
    คนดีก็มองเห็นความดีเป็นความชั่ว
    ต่อเมื่อใดความดีเผล็ดผล
    เมื่อนั้นแหละเขาจึงจะเห็นผลของความดี


    ๑๒๑. อย่าดูถูกความชั่วเล็กน้อยว่าจักไม่สนองผล
    น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้
    คนพาลทำความชั่วทีละเล็กละน้อย
    ย่อมเต็มด้วยความชั่วได้เช่นกัน

    ๑๒๒.อย่าดูถูกบุญเล็กน้อยว่าจักไม่สนองผล
    น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้
    นักปราชญ์สะสมบุญทีละเล็กละน้อย
    ย่อมเต็มด้วยบุญได้เช่นกัน


    ๑๒๓. พ่อค้ามีทรัพย์มาก มีพวกน้อย
    ละเว้นทางที่มีภัย
    คนรักชีวิตละเว้นยาพิษ ฉันใด
    บุคคลพึงละบาป ฉันนั้น


    ๑๒๔.เมื่อมือไม่มีแผล
    บุคคลย่อมจับต้องยาพิษได้
    ยาพิษนั้นไม่สามารถทำอันตรายได้
    บาปก็ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป


    ๑๒๕.  บาปก็ย่อมตามสนองผู้โง่เขลา
    ซึ่งทำร้ายบุคคลที่ไม่ทำร้ายตอบ
    ผู้หมดจด ปราศจากกิเลส
    ดุจธุลีที่ซัดทวนลม (วกกลับมาหาผู้ซัด)

    ๑๒๖. สัตว์บางพวกกลับมาเกิดอีก
    พวกที่ทำบาป ไปนรก
    พวกที่ทำดี ไปสวรรค์
    พวกที่หมดอาสวกิเลส ปรินิพพาน

    ๑๒๗. ไม่ว่าบนท้องฟ้า
    ไม่ว่าท่ามกลางสมุทร
    ไม่ว่าในหุบเขา
    ไม่มีแม้แต่แห่งเดียว
    ที่ผู้ทำกรรมชั่วอาศัยอยู่
    จะหนีพ้นกรรมไปได้

    ๑๒๘. ไม่ว่าบนท้องฟ้า
    ไม่ว่าท่ามกลางสมุทร
    ไม่ว่าในหุบเขา
    ไม่มีแม้สักแห่งเดียว
    ที่คนเราอาศัยอยู่แล้ว
    จะหนีพ้นความตายได้
  • ๑๐๐. คำพูดที่เหลวไหลไร้ประโยชน์ตั้งพันคำ
    ก็สู้คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียวไม่ได้
    เพราะฟังแล้วทำให้จิตใจสงบ

    ๑๐๑. บทกวีตั้งพันโศลก

    แต่ไร้ประโยชน์
    ไม่เท่าบทกวีบรรทัดเดียว
    ที่ทำให้ผู้ฟังได้รับความสงบ

    ๑๐๒.บทกวีบรรยายธรรมบทเดียว
    ที่ทำให้ผู้ฟังได้รับความสงบ
    ประเสริฐกว่าบทกวีที่ท่องจำได้ตั้งร้อยโศลก
    แต่ไม่มีประโยชน์แม้แต่บทเดียว

    ๑๐๓.ถึงจะรบชนะข้าศึกเป็นพันๆ ราย
    ก็ไม่นับเป็นยอดขุนพล
    แต่ผู้ที่เอาชนะจิตใจตน
    จึงเรียก "ยอดขุนพล" แท้จริง


    ๑๐๔-๑๐๕ เอาชนะตนได้นั้นแล ประเสริฐ
    ผู้ที่ฝึกตนได้ ระวังระไวตลอดเวลา
    ถึงเทวดา คนธรรพ์ และพระพรหม
    ก็เอาชนะไม่ได้

    ๑๐๖.การบูชาท่านผู้ฝึกตน แม้เพียงหนึ่งครั้ง
    บังเกิดผลมหาศาล
    ยิ่งกว่าสละทรัพย์บูชายัญเดือนละพัน
    เป็นเวลาติดต่อกันถึงร้อยปี


    ๑๐๗.การบูชาท่านผู้ฝึกตนแม้เพียงครู่เดียว
    บังเกิดผลมหาศาล
    ยิ่งกว่าการบูชาไฟในป่า
    เป็นเวลาตั้งร้อยปี


    ๑๐๘. ไม่ว่ายัญชนิดไหน ที่ผู้ใคร่บุญพึงบูชาตลอดปี
    การบูชายัญนั้นมีค่าไม่เท่าหนึ่งในสี่ของการยกมือไหว้
    ท่านผู้ปฏิบัติตรงตามอริยมรรคแม้เพียงครั้งเดียว
    การไหว้บุคคลเช่นนั้นประเสริฐกว่าเป็นไหนๆ


    ๑๐๙.ผู้กราบไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตัว
    ต่อผู้ใหญ่เป็นนิจศีล
    ย่อมเจริญด้วยคุณธรรมสี่ประการคือ
    อายุ ชื่อเสียง สุข และกำลัง

    ๑๑๐. ผู้มีศีล มีสมาธิ
    ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
    ของคนทุศีล ไร้สมาธิ

    ๑๑๑. ผู้มีปัญญา มีสมาธิ
    มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
    ของผู้ทรามปัญญา ไร้สมาธิ

    ๑๑๒. ผู้มีความเพียรมั่นคง
    มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
    ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร


    ๑๑๓. ผู้พิจารณาเห็นความเกิด-ดับแห่งสังขาร
    มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
    ของผู้ไม่พิจารณาเห็น


    ๑๑๔.ผู้พบทางอมตะ
    มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
    ของผู้ไม่พบ

    ๑๑๕. ผู้เห็นพระธรรมอันประเสริฐ
    มีชีวิตอยู่วันเดียว
    ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
    ของผู้ไม่เห็น
  • ๙๐. ผู้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
    วิมุติหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง
    หมดโศก หมดเครื่องพัวพันแล้ว
    ความร้อนใจก็หมดไป



    ๙๑. ผู้มีสติย่อมขยันขันแข็ง
    ไม่ยึดติดแหล่งที่อาศัย
    ละทิ้งไปตามลำดับ
    เหมือนกับพญาหงส์ทิ้งสระน้ำ


    ๙๒. ท่านที่หมดการสะสม (ปัจจัยหรือกรรมดีกรรรมชั่ว)
    พิจารณาโภชนะก่อนบริโภค เข้าถึงความหลุดพ้น
    อันว่างจากกิเลสและไร้นิมิตหมายคือกิเลส
    บุคคลเช่นนี้ ยากที่สามัญชนจะตามทัน
    เหมือนนกบินบนท้องฟ้า ตามทันยาก

    ๙๓. ผู้หมดกิเลส ไม่เห็นแก่กิน เข้าถึงความหลุดพ้น
    อันว่างจากกิเลสและไร้นิมิตหมายคือกิเลส
    บุคคลเช่นนี้มิได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย
    เหมือนนกบินบนท้องฟ้า หารอยอันใดมิได้.

    ๙๔. ท่านผู้ใดควบคุมอินทรีย์คือ
    ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ได้
    เหมือนม้าที่สารถีควบคุมได้อย่างดี
    ท่านผู้นี้หมดความไว้ตัว หมดกิเลส มั่นคง
    ย่อมเป็นที่โปรดปราน แม้กระทั่งของเทวดาทั้งหลาย


    ๙๕. พระอรหันต์เปรียบได้กับแผ่นดิน ไม่เคยโกรธขึ้งใคร
    มีจิตคงที่ เหมือนหลักเมือง
    มีจรรยาสะอาด เหมือนสระน้ำที่ใสไร้เปลือกตม
    ผู้มีคุณสมบัติเห็นปานนี้ ย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก

    ๙๖. พระอรหันต์ผู้เป็นอิสระเพราะรู้แจ้ง
    ผู้สงบระงับ และมีจิตมั่นคง
    ใจของท่าน ย่อมสงบ
    วาจาก็สงบ
    การกระทำทางกายก็สงบ

    ๙๗. ผู้ไม่เชื่อใครง่ายตนกว่าจะพิสูจน์ด้วยตนเอง ๑
    ผู้รู้แจ้งพระนิพพาน ๑
    ผู้หมดการเวียนว่ายตายเกิด ๑
    ผู้หมดโอกาสที่จะทำดีหรือชั่ว ๑
    ผู้หมดกิเลสที่ทำให้หวัง ๑
    ห้าประเภทนี้แล เรียกว่า "ยอดคน"


    ๙๘. ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือป่า
    ไม่ว่าจะเป็นที่ลุ่ม หรือที่ดอน
    พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด
    ที่นั้น เป็นที่น่ารื่นรมย์

    ๙๙. ป่าที่คนทั่วไปไม่ชื่นชม
    เป็นรมณียสถาน
    สำหรับท่านผู้หมดราคะ
    เพราะพระท่านมิได้ใฝ่กามคุณ
  • ๗๖.  ถ้าพบนักปราชญ์ ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนชี้ข้อบกพร่อง
    เสมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบหาบัณฑิตเช่นนั้น
    เพราะเมื่อคบหาคนเช่นนั้น จะมีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อม

    ๗๗. จงยอมตนให้บัณฑิตตักเตือนพร่ำสอน

    และกีดกันจากความชั่ว
    คนที่คอยสั่งสอนเช่นนี้
    คนดีรัก แต่คนชั่วเกลียด


    ๗๘. ไม่พึงคบมิตรชั่ว
    ไม่พึงคบคนเลวทราม
    พึงคบกัลยาณมิตร
    พึงคบคนที่ดีเยี่ยม


    ๗๙.ผู้ดื่มรสพระธรรม มีใจสงบ
    ย่อมอยู่เป็นสุข
    บัณฑิตย่อมยินดีในธรรม
    ที่พระอริยเจ้าแสดงไว้เสมอ


    ๘๐. ชาวนาไขน้ำเข้านา
    ช่างศรดัดลูกศร
    ช่างไม้ถากไม้
    บัณฑิตฝึกตนเอง


    ๘๑.ขุนเขาไม่สะเทือนเพราะแรงลมฉันใด
    บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญฉันนั้น


    ๘๒.ห้วงน้ำลึก ใสสะอาดสงบฉันใด
    บัณฑิตฟังธรรมแล้วย่อมมีจิตใจสงบฉันนั้น

    ๘๓.สัตบุรุษ ยอมเสียสละได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
    ไม่มัวพร่ำเพ้อ แต่เรื่องกามคุณ
    ไม่ว่าได้รับสุขหรือทุกข์
    บัณฑิตไม่แสดงอาการยินดียินร้าย (เกินกว่าเหตุ)


    ๘๔.ไม่ควรทำชั่วเพราะเห็นแก่ตัว หรือคนอื่น
    ไม่ควรปรารถนาบุตร ทรัพย์ รัฐ หรือความสำเร็จ
    แก่ตนโดยทางที่ไม่ชอบธรรม
    ควรมีศีล มีปัญญา มั่นอยู่ในธรรม


    ๘๕.ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย
    น้อยคนนักจักข้ามฝั่งไปได้
    ส่วนคนนอกนี้
    ก็ได้แต่วิ่งเลียบเลาะริมฝั่ง


    ๘๖.ผู้ประพฤติตามคำสั่งสอนที่ตรัสดีแล้ว
    ย่อมข้ามอาณาจักรพญามาร
    ที่ข้ามได้แสนยาก
    ไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง (คือพระนิพพาน)

    ๘๗. บัณฑิตพึงละธรรมดำ (บาป)
    สร้างสมธรรมขาว (บุญ)
    เมื่อละบ้านเรือนมาถือเพศบรรพชิตแล้ว
    ก็ควรยินดีในความสงัดวิเวก
    ซึ่งยากที่คนธรรมดาจะยินดีได้


    ๘๘.บัณฑิตพึงละกามคุณ
    สลัดอาลัยหมดสิ้น
    ทำตนให้บริสุทธิ์
    ปราศจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต

    ๘๙. ท่านที่อบรมจิตใจเป็นอย่างดี
    ในคุณธรรมที่จะนำไปสู่การตรัสรู้
    ไม่ยึดมั่น ยินดีในความปล่อยวาง
    ท่านเหล่านั้น เป็นพระอรหันต์ สงบ สว่าง
    เข้าถึงพระนิพพานแล้วในโลกนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น